23 มกราคม 2556

ประเพณีวัฒนธรรม


ลากพระหรือชักพระ หรือแห่พระ 


     เป็นประเพณีของชาวภาคใต้ ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่โบณาณ
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
ประวัติความเป็นมา

            ประเพณีชักพระเป็นประเพณีทพราหมณ์ศาสนิกชนและ พุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอา เทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับ ความเชื่อทางพุทธศาสนา ประเพณีชักพระเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนาน ว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธ มารดา 7 คัมภีร์ จนพระมหามายาเทพและเทพยดา ในเทวสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันได ทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้นสำหรับเทพยดา มาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลานได้มารอ รับเสด็จ อย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้า ไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง ข้าไปถวายเป็น ที่โกลาหล โดยถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหาร แห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเกิด ประเพณี "ห่อต้ม" "ห่อปัด" ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชน ได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์

พิธีกรรม
๑. การแต่งนมพระ
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
การตกแต่งเรือพระและนมพระ (บุษบก) แต่ละวัด ต่างก็พยายามตกแต่งกัน อย่างวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ นมพระนับเป็นสวนสำคัญที่สุดของเรือพระ หลังคานมพระ นิยมทำเป็นูปจตุรมุข หรือจตุรมุขซ้อน ตกแต่งด้วยหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เสานมพระ ใช้กระดาษสี แกะลวดลายปิด หรือแกะสลักไม้อย่างประณีตงดงาม ยอดนมพระจะเรียกชะลูด ปลายสุด มักใช้ลูกแก้วฝัง เมื่อต้องแสงแดด จะทอแสงระยับ
         การสร้างนมพระ หรือบุษบกสำหรับลากพระบก ส่วนใหญ่นิยมสร้างบนร้านไม้ ซึ่งประกอบติดแน่นอยู่บนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อน ที่รองรับช่วงล่าง ไม้สองท่อนนี้ สมมติเป็นพญานาคทางด้านหัว และท้ายทำงอนคล้ายหัวเรือ และท้ายเรือ บางทีทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคหรือสัตว์อื่น ๆ ถ้าทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคที่ลำตัวนาคมักประดับด้วยกระจกต่าง ๆ ร้านไม้กลางลำตัวนาค ซึ่งใช้สำหรับวางบุษบก มักจะสร้างสูงราว 1.50 เมตร นมพระหรือบุษบก บนร้านไม้ ที่สร้างอย่างประณีต ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เรียกว่า พระลากรอบ ๆ นมพระจะประดับประดาด้วยธงผ้าแพรสี นอกจากนี้ ยังมีธงราว ธงยืนห้อยระโยง ระยาง และมีเครื่องประดับแต่งอื่น ๆ เช่น อุบะดอกไม้แห้ง ระย้าย้อย ต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าว เป็นต้น
ด้านหน้านมพระ นอกจากจะตั้งบาตรสำหรับต้มจากผู้ทำบุญแล้ว มักจะตั้งธรรมาสน์หรือเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ผู้ควบคุมดูแลการลากพระได้นั่ง ส่วนด้านหลังของนมพระมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งใช้สำหรับ ประโคม ที่ด้านหน้าของหัวเฆ่ หรือนาคทั้งสอง มีนาคขนาดใหญ่พอกำรอบ ยาวประมาณ 30 เมตร ผูกอยู่ข้างละเส้น เชือกนี้สำหรับให้ชาวบ้านลากพระ ถ้าหาก การลากพระนั้น เป็นการลากบนถนนหรือพื้นที่เรียบนิยมทำล้อ 4 ล้อ ที่ใช้ตัวนาค ทั้งสองข้างด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องออกแรงในการลากพระมากนัก แต่ถ้าผ่านที่ไม่เรียบ หรือผ่านทุ่งนา ก็ไม่นิยมใส่ล้อ แต่จะคงตามแบบเดิมไว้ สำหรับในปัจจุบัน นิยมทำเรือพระบกบนรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกต่อการชักลาก

การสร้างเรือพระเพื่อใช้ลากพระทางน้ำ การเตรียมการไม่แตกต่างจากเรือพระ ที่ใช้ลากพระทางบก อาจใช้เรือลำเดียว ตั้งนมพระกลางลำเรือแล้ว ใช้ฝีพายเรือพระ หรือใช้เรือขนาดใหญ่ 3 ลำ มาเรียงกันผูกให้เรือติดกันอย่างมั่นคง แล้วใช้ไม้กระดานวางเรียงให้เต็มลำเรือทั้งสามลำ เพื่อเป็นพื้นราบสำหรับวางร้านไม้ และบุษบกตรงกลางลำตกแต่งเรือพระและนมพระด้วยแพรพรรณ กระดาษสีธงทิว และต้นไม้ มีที่นั่งสำหรับพระภิกษุผู้ควบคุม และมีเครื่องดนตรีสำหรับประโคม เช่นเดียวกับในเรือพระบก ส่วนที่หัวเรือพระมีเชือกนาคเท่ากับของเรือพระบกผูกไว้ สำหรับให้เรือชาวบ้านมาช่วยกันลาก พระพุทธรูปที่นิยมใช้ในพิธีลากพระ นิยมใช้ปางอุ้มบาตร แต่มีหลายท้องถิ่นนิยมใช้ปางคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นปางขอฝน ที่ใช้ในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง แต่บางวัดใช้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และปางอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจจะใช้ 1 องค์ 2 องค์ หรือ 3 องค์ ก็ได้

๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
๓. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง

ภาพจาก  http://www.siamfreestyle.com/

ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระ
(สร้อย) : อี้สาระพา เฮโล เฮโล
ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว
ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ

ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลากพระทางบก กับ ลากพระทางน้ำ
ลากพระทางบก คือการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้น ประดิษฐาน บนนมพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง
ลากพระทางน้ำ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนบุษบก ในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มัก กระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง
ก่อนถึงวันลากพระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี "การคุมพระ" ที่วัด การคุมพระ คือการตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระประมาณ 10 - 15 วัน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้าน ทราบว่า จะมีการลากพระ เพื่อปลุกใจชาวบ้าน ให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และเพื่อชาวบ้านจะได้มาช่วยกันเตรียมการต่าง ๆ ล่วงหน้า ผู้คุมพระได้แ่ก่เด็กวัด และประชาชนที่อยู่ใกล้วัด การคุมพระ จะมีทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกันไปจนถึงวันลากพระ ในช่วงที่มีการคุมพระ พระสงฆ์สามเณร และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือพระ ซึ่งถ้าเป็นเรือพระบก จะหมายรวมถึง "นมพระ" หรือบุษบก ร้านไม้ และ "หัวเฆ่" หรือไม้ขนาดใหญ่ สองท่อน ในปัจจุบันมักใช้ล้อเลื่อน หรือรถ แทน "หัวเฆ่" ถ้าเป็นเรือพระน้ำ จะหมายถึง "นมพระ" ร้านไม้ และลำเรือ ซึ่งอาจจะใช้ลำเดียวหรือนำมาผูกติดกัน 3 ลำ การเตรียมเรือพระ จะต้องทำให้เสร็จทันวันลากพระ

ประเพณีลากพระกระทำกันแทบทุกจังหวัด ของภาคใต้ แต่แหล่งลากพระที่มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ อำเภอเกาะพงัน อำเภอเมือง สุราษฎร์ธานี และอำเภอพุนิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอปากพนัง และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

เรียนรู้อะไรจากประเพณีชักพระ
ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
๑. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร
๒. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย
๓. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ

         แหล่งอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น